วันอังคารที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2557

พระวิหารการโกวิท (เกิด จนฺทสโร) วัดทัพหลวง

พระวิหารการโกวิท (เกิด จนฺทสโร) วัดทัพหลวง



พระวิหารการโกวิท (เกิด จนฺทสโร)
วัดทัพหลวง


           วัดทัพหลวง ตั้งอยู่เลขที่ ๗๔ หมู่ที่ ๔ ตำบลทัพหลวง อำเภอเมืองนครปฐม จังหวัดนครปฐม แต่เดิมชาวบ้านเรียกวัดนี้ว่า "วัดแปดโรง" ตามชื่อของหมู่บ้านซึ่งมีชาวบ้านมาปลูกสร้างเป็นแบบบ้านหลังคามุงแฝกอยู่ ๘ หลัง ซื่งปัจจุบันหมู่บ้านนี้ก็ยังมีชื่อเรียกอยู่แต่จำนวนบ้านได้เพิ่มมากขึ้น ตามความหนาแน่นของประชากร ปัจจุบันคนส่วนใหญ่จะลืมชื่อเดิมเสียแล้ว  คงรู้จักและเรียกขานนามกันว่า "วัดทัพหลวง" ตามชื่อตำบลที่ฝ่ายบ้านเมืองตั้งให้
          สภาพพื้นที่ของวัดทัพหลวงในขณะนั้น เป็นพื้นที่แห้งแล้งกันดารขาดน้ำ ไม่มีระบบชลประทานเหมือนในปัจจุบันนี้ การเพาะปลูกในขณะนั้นจึงไม่ได้ผลผลิต เป็นเหตุให้ประชาชนยากจน พระภิกษุที่จำพรรษาในวัดทัพหลวงต้องทนลำบากเพราะขาดแคลนน้ำ  อยู่ในสภาพอดยาก อันเนื่องมาจากการทำบุญใส่บาตรของประชาชนน้อยลงเพราะความยากจนของชาวบ้าน เป็นเหตุให้พระภิกษุในวัดทัพหลวงย้ายไปจำพรรษาวัดอื่น
          วัดทัพหลวงเริ่มก่อสร้างขึ้นในปีพ.ศ.๒๔๖๐ โดยมีนายอ่อน แป้นห้วยไผ่ อุทิศที่ดินถวายประมาณ ๑๕ ไร่  ในระยะแรกได้สร้างศาลาการเปรียญขึ้น ๑ หลัง ต่อมาถูกไฟไหม้แต่ชาวบ้านได้ช่วยกันดับไว้ทัน ครั้นต่อมาพระภิกษุนาค ได้ชักชวนชาวบ้านดำเนินการก่อสร้างศาลาการเปรียญขึ้นใหม่และได้ปกครองวัดมา อีก  ๑ ปี
          พ.ศ.๒๔๖๑ วัดนี้ต้องถูกยุบ เนื่องจากไม่ได้ขออนุญาตสร้างวัดต่อคณะสงฆ์อย่างถูกต้อง
          พ.ศ.๒๔๖๒ นายอ่อน แป้นห้วยไผ่ ได้เป็นหัวเรี่ยวหัวแรงชักชวนประชาชนดำเนินการก่อสร้างวัดขื้นใหม่อีกครั้ง หนึ่ง และได้ขออนุญาตตั้งวัดอย่างถูกต้องต่อคณะสงฆ์ ซึ่งก็ได้รับอนุญาตให้จัดตั้งได้ เมื่อดำเนินการจัดสร้างเรียบร้อยแล้วบรรดามรรคทายกจึงได้ไปนิมนต์ พระภิกษุเรียบ จากวัดหนองปลาหมอ อำเภอบ้านโปร่ง จังหวัดราชบุรี ให ้มาเป็นผู้ปกครองวัด
          พ.ศ.๒๔๖๓ พระภิกษุทองซึ่งมาจากปักษ์ใต้ เป็นผู้ปกครองวัด
          พ.ศ.๒๔๖๔ พระภิกษุไผ่ จากวัดพระงาม อำเภอเมือง จังหวัดนครปฐม เป็นผู้ปกครองวัด
          พ.ศ.๒๔๖๖ พระภิกษุแสง ซึ่งเป็นคนท้องถิ่น เป็นผู้ปกครองวัด
          พ.ศ.๒๔๖๘ นายอ่อน แป้นห้วยไผ่ พร้อมด้วยทายกทายิกาได้ไปนิมนต์พระภิกษุเกิด จนฺทสโร จากวัดเทพอาวาส อำเภอเมืองราชบุรี จังหวัดราชบุรี มาเป็นผู้ปกครองวัด และตั้งแต่นั้นมา พระภิกษุเกิด ก็ได้เริ่มก่อสร้าง ศาลาการเปรียญ กุฏิสงฆ์ หอฉัน ศาสนสถานและศาสนวัตถุต่าง ๆอีกมาก และยังเป็นผู้ริเริ่มสร้างโรงเรียนประชาบาลวัดทัพหลวงในปัจจุบัน
          พ.ศ.๒๔๗๑ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ ๒๒ ตุลาคม ๒๔๗๑ นับเป็นปีที่ ๔ ในรัชกาลที่ ๗ แห่งกรุงรัตนโกสินทร์
          พ.ศ.๒๔๗๕ พระภิกษุเกิด ได้รับแต่งตั้งจากคณะสงฆ์ให้ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดทัพหลวง นับเป็นเจ้าอาวาสที่ได้รับแต่งตั้งที่ถูกต้องจากคณะสงฆ์เป็นองค์แรกของวัด นี้



โรงเรียนวัดทัพหลวง (หลวงพ่อเกิดอุปถัมภ์) เริ่มก่อตั้งเมื่อ ๑๕ ตุลาคม พ.ศ.๒๔๗๗ 
โดยหลวงพ่อเกิดให้ความอุปถัมภ์ และภาพที่เห็นนี้คืออาคารเรียนในปัจจุบัน


          พ.ศ.๒๔๙๑ ได้เริ่มก่อสร้างพระอุโบสถขึ้น ๑ หลัง
          พ.ศ.๒๔๙๔ ได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระครูสัญญาบัตรชั้นเอก มีราชทินนามว่า"พระครูวิหารการโกวิท"
          พ.ศ.๒๔๙๖ ได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต




พระอุโบสถ เริ่มก่อสร้างปี พ.ศ.๒๔๙๑ 
ได้ทำพิธีผูกพัทธสีมาฝังลูกนิมิต ปี พ.ศ.๒๔๙๖

          พ.ศ.๒๕๐๕ ได้เลื่อนพระสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญ มีพระราชทินนามว่า"พระวิหารการโกวิท"
          ตลอดระยะเวลาที่พระเดชพระคุณท่านพระวิหารการโกวิท ( หลวงพ่อเกิด จนฺทสโร ) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาส ท่านได้ดำเนินการก่อสร้างและบูรณะวัดทัพหลวงเรื่อยมา และเป็นที่เคารพนับถือยกย่องของชาวบ้านทัพหลวงและตำบลใกล้เคียง ได้อบรมสั่งสอนจนมีศิษย์มากมาย จนถึงวันที่ ๑๖ พฤศจิกายน พ.ศ. ๒๕๑๐ ทายกทายิกา ชาวตำบลทัพหลวง ลูกศิษย์และชาวพุทธทั่วไปที่นับถือในพระเดชพระคุณ ต่างก็เศร้าโศกเสียใจในการจากไปของท่าน"พระวิหารการโกวิท" ท่านมรณภาพเสียแล้ว
          พระวิหารการโกวิท (เกิด จนฺทสโร) น.ธ.เอก นามเดิมว่า" เกิด " นามสกุล "เขียมสุวรรณ์" เกิดปีพ.ศ.๒๔๓๖ ตำบลคูบัว อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โยมบิดาชื่อ นายมา โยมมารดาชื่ิอ นางค้ำ มีพี่น้อง ๘ คนคือ
          ๑. นายสุข เขียมสุวรรณ์
          ๒. นายโชติ เขียมสุวรรณ์
          ๓. หลวงพ่อเกิด
          ๔.นายแดง เขียมสุวรรณ์
          ๕.นายบัว  เขียมสุวรรณ์
          ๖.นายสอน เขียมสุวรรณ์
          ๗.นางทิพย์  คานไชยา
          ๘.นางผิว  ทองอาด
             ต่อมาภายหลังพี่น้องได้เปลี่ยนนามสกุลจาก "เขียมสุวรรณ์" เป็น " มานวกุล "
           เมื่ออายุ ๒๒ ปี อุปสมบท เมื่อวันที่่ ๔ มิถุนายน พ.ศ. ๒๔๕๘ เวลา ๑๕.๓๘ น. ณ วัดเเคทราย ตำบลคูบัว อําเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีพระอธิการนิ่ม วัดหนองพุงดอ เป็นพระอุปัชฌาย์ พระอธิการใจ วัดเเคทราย เป็นพระกรรมวาจาจารย์ พระเสาร์ วัดหนองพุงดอ เป็นพระอนุสาวนาจารย์ ได้รับฉายาว่า " จนฺทสโร"
          หลวงพ่อเกิด ท่านเป็นเกจิอาจารย์รูปหนึ่่ง ที่่ร่วมสมัยกับหลวงพ่อเงิน วัดดอนยายหอมและเป็นสหมิตรทางธรรมด้วยกัน หลวงพ่อเกิดและหลวงพ่อเงินจึงไปมาหาสู่กันเสมอ เมื่อวัดทัพหลวงมีงานบุญหรือมีพิธีพุทธาภิเษก หลวงพ่อเงินท่านจะมาร่วมพิธีเสมอ
          จากการบอกเล่าของคุณลุงแหร่ม ทองดอนน้อย ท่านได้เล่าในขณะที่ท่านอายุ  ๖๘ ปีว่า
          " หลวงพ่อเกิดเล่าว่า ท่านเดินธุดงค์ไปนครสรรค์เพื่อไปเรียนวิชากับหลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ และวิชาที่ท่านได้ศึกษามาได้แก่ วิปัสสนากรรมฐานและคันถธุระ คาถาอาคม การผูกดวง ถอดเลข อักขรขอม ท่านเรียนเพื่อรู้ ท่านสร้างพระเพื่อเป็นพุทธานุสติ ท่านไม่เน้นการสร้างวัตถุมงคล ท่านเน้นการให้ธรรมะ สร้างคนให้มีความรู้ ดังนั้นการสร้างวัตถุมงคลของหลวงพ่อเกิด จึงสร้างไม่มากนัก การสร้างวัตถุมงคลของท่านจึงสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นที่ระลึก เพื่อตอบแทนน้ำใจหรือในวาระโอกาสสำคัญ ๆ ซึ่งผู้เขียนจะขอกล่าวถึงวัตถุมงคลสำคัญของท่านไว้ในตอนท้ายของบทความ
         เมื่อหลวงพ่อเกิดมาจำพรรษาอยู่วัดทัพหลวงตามคำนิมนต์ของนายอ่อน แป้นห้วยไผ่ ดังได้กล่าวมาแล้วแต่ข้างต้น แต่เนื่องจากพื้นที่ตำบลทัพหลวงแห้งแล้งกันดารขาดแคลนน้ำ ทำให้การเกษตรไม่ได้ผล ประชาชนยากจนมาก จึงเป็นอุปสรรคในการพัฒนาปฏิสังขรณ์วัดทัพหลวงเป็นอย่างยิ่ง หลวงพ่อเดิม วัดหนองโพ ซึ่งเป็นพระอาจารย์ของท่านมีความรัก ความห่วงใย และความผูกพันอย่างลึกซึ้งในฐานะพระอาจารย์กับศิษย์ หลวงพ่อเดิมเมื่อท่านมีโอกาศ ท่านจะแวะเวียนเดินทางมาเยี่ยมเยียนหลวงพ่อเกิดเสมอ ๆที่วัดทัพหลวง ทุกครั้งที่หลวงพ่อเดิมมาวัดทัพหลวงท่านจะนำพระเครื่องของท่านมาทุกครั้ง ได้แก่ พระรูปหล่อเหมือนลอยองค์ หลวงพ่อเดิม มาแจกจำหน่ายที่วัดทัพหลวง เพื่อนำปัจจัยไปเป็นค่าใช้จ่ายในการสร้างพระอุโบสถวัดทัพหลวง ( ชาวทัพหลวงในอดีตหลายท่านได้รับรูปหล่อลอยองค์หลวงพ่อเดิม รับจากมือหลวงพ่อเดิมโดยตรง )
          พระที่เปี่ยมด้วยความเมตตา
          ด้วยบุคลิกที่น่าเกรงขาม แต่เปี่ยมด้วยเมตตา  ให้ความช่วยเหลือแก่ทุกคนโดยไม่เลือกชั้นวรรณะ เป็นที่ประทับใจแก่ผู้พบเห็นและใกล้ชิด ในสมัยก่อน ยังไม่มีโรงพยาบาล สถานีอนามัย ชาวบ้านเมื่อเจ็บป่วย ก็จะพาไปให้หลวงพ่อเกิดรักษาทุกราย และท่านก็รักษาให้ทุกรายโดยมิได้เลือกที่รัก บางรายป่วยหนักมาที่วัดไม่ไหว ท่านก็ไปรักษาให้ที่บ้าน บางครั้งตี ๑ ตี ๒ มีคนมาตามหลวงพ่อไปรักษาไข้ หลวงพ่อก็ไปรักษาให้
          คุณตาช้วน แซ่ลิ้มเล่าถึงบุคลิกที่น่าเกรงขามของหลวงพ่อเกิดว่า
          "ครั้งหนึ่งผมขี่จักรยานพาหลวงพ่อไปรักษาไข้ตอนกลางคืน เส้นทางที่จะไปต้องผ่านกลุ่มพวกนักเลงนั่งวงล้อมกินเหล้า เมื่อผมขี่จักรยานเข้าไปใกล้กลุ่มนักเลงนั้น ก็ได้ยินเสียงตะโกนของพวกนักเลงนั่งกินเหล้าถามว่า"ใครวะ" หลวงพ่อตอบสวนกลับทันที" กูเอง" เท่านั้นแหละครับ พวกนักเลงพากันหายเมาทันที หนีหายไปจากตรงนั้นกันหมดเลย น่าขำจริงๆ" คุณตาหัวเราะขึ้นอย่างมีความสุขเมื่อนึกถึงอดีต
           พระเครื่องของหลวงพ่อเกิดที่่น่าสนใจและอยู่ในความนิยม มีดังต่อไปนี้ คือ
          ๑.เหรียญหล่อโบราณพิมพ์พระพุทธ(รูปจำลองพระพุทธสิหิงค์)หรือที่ชาวบ้านเรียก ว่า "เหรียญรุ่นเสาร์ ๕" เป็นเหรียญหล่อโบราณเนื้อขันลงหิน เป็นพระพุทธนั่งขัดสมาธิในซุ้มเรือนแก้ว มีแบบพิมพ์มากหลากหลาย พอสรุปจำแนกได้เป็น ๓ แบบพิมพ์ คือ แบบพิมพ์หน้าใหญ่หรือพิมพ์นิยม พิมพ์หน้ากลางและแบบพิมพ์หน้าเล็กหรือพิมพ์ทั่วไป ขนาดฐานกว้างประมาณ ๑.๖ เซนติเมตร สูงประมาณ ๒.๔ เซนติเมตร(เหรียญหล่อรุ่นเสาร์ ๕ นี้สันนิฐานว่าได้สร้างเรียนแบบแม่พิมพ์พระผงรุ่นสรงน้ำของสมเด็จพระพุทธโฆ ษาจารย์ เจริญ ญาณวโรเถระ วัดเทพศิรินทร์ฯ ปี พ.ศ.๒๔๘๗ เป็นรูปจำลองพระพุทธสิหิงค์จังหวัดชลบุรี ปางสมาธิประทับนั่งในซุ้มเรือนแก้ว)

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น